เที่ยวธรรมชาติต้องระวัง 4 โรคที่จะเกิดขึ้นได้ !!
21 ม.ค. 2023
4 โรคร้ายต้องระวัง เมื่อเดินทางไปตั้งแคมป์กลางป่าเขาธรรมชาติ
ยุคนี้หนึ่งในกิจกรรมยอดฮิตสำหรับครอบครัวก็คงไม่พ้น “การตั้งแคมป์” แน่นอน ไม่ว่าจะการตั้งแคมป์ในป่า บนภูเขา หรือริมน้ำตก ฯลฯ ซึ่งการที่เราได้นั่งผิงกองไฟย่ำค่ำคืนกับครอบครัว แล้วตื่นมาจิบกาแฟร้อนๆ พร้อมกับสัมผัสของไอหมอกยามเช้านั้นแฮปปี้แบบสุดๆ
แต่ในการตั้งแคมป์ก็ต้องอย่าลืมว่า ท่ามกลางความสวยงามของธรรมชาติก็อาจมีอันตรายบางอย่าง ที่สามารถนำโรคร้ายมาโจมตีสุขภาพของเราหรือคนในครอบครัวโดยไม่ได้ตั้งตัวได้เหมือนกัน
ดังนั้นในบทความนี้ ซันเดย์จึงได้ทำการเรียบเรียงข้อมูลโรคร้ายต่างๆ ที่เราจะระวังเมื่อเดินทางไปตั้งแคมป์ เพื่อให้เราสามารถเพิ่มความระมัดระวัง รวมถึงดูแลให้ทริปวันหยุดเต็มไปด้วยความสุข ไร้โรคภัยมาทำร้ายคนที่เรารักได้ตลอดการเดินทาง
1. โรคไข้รากสาดใหญ่
โรคไข้รากสาดใหญ่ (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากตัวไรอ่อน ที่อาศัยอยู่ตามกอไม้กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน ซึ่งเจ้าตัวไรอ่อนนี้จะชอบไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคน เพื่อกัดผิวหนังและกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร ป้องกันได้ยากมากเพราะเราแทบจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อนที่มีขนาดเล็กราวๆ 1 มม. เท่านั้น
อาการของไข้รากสาดใหญ่ : หลังจากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน บางคนอาจหายได้เอง แต่บางคนก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
วิธีป้องกันตัวเองจากไข้รากสาดใหญ่ :เมื่อต้องการไปกางเต็นท์ตั้งแคมป์ในป่า
ควรเลือกทำเลที่โล่งเตียนหลีกเลี่ยงการนั่ง หรือนอนบนพื้นหญ้า พุ่มหญ้าที่รกชัฏ
-ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ปกปิดผิวหนังตนเองจากแมลงและสัตว์ต่างๆ
-หมั่นทายากันยุง และยาป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย
-หลังจากไปตั้งแคมป์ในป่าประมาณ 2 สัปดาห์ ควรสังเกตอาการของตนเองว่าเข้าข่ายป่วยเป็นไร้รากสาดใหญ่หรือไม่ หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์
2. โรคมาลาเรีย
โรคมาลาเรีย ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังสำหรับใครที่ชอบตั้งแคมป์แถวๆ ชายป่าหรือริมน้ำธรรมชาติ โดยคนที่ถูกยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะของเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium) กัด ซึ่งยุงก้นปล่องนี้ มักจะพบมากในแถบชนบท และมีพฤติกรรมชอบวางไข่ในแหล่งน้ำใสไหลริน แอ่งน้ำสะอาด ธารน้ำไหล หรือน้ำตก เป็นต้น
อาการของโรคไข้มาลาเรีย : โรคมาลาเรียโดยทั่วไปอาจมีอาการคล้ายกับการเป็นไข้หวัด เช่น มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหารควบคู่กันไป ที่สำคัญจะมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย ส่วนระยะเวลานั้น อาการต่างๆ อาจเป็นอยู่ในระยะสั้นหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคไข้มาลาเรีย :
-ระวังไม่ให้ถูกยุงก้นปล่องกัด ในช่วงที่ยุงออกหากินตั้งแต่ย่ำค่ำจนรุ่งสาง
-หมั่นทายากันยุงบริเวณผิวหนังนอกเสื้อผ้า
-ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด
-หากค้างคืนในป่าเขา ไร่นา หรือริมน้ำ ต้องรู้จักป้องกันตนเอง เช่น นอนในมุ้ง หรือหากใช้เปลนอน ก็ให้หามุ้งคลุมเปลพร้อมทั้งใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดแขนขาให้พ้นจากยุงกัด และทายากันยุง
-หากมีอาการป่วยที่เข้าข่ายหลังจากไปตั้งแคมป์ควรปรึกษาแพทย์ทันที
3. โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เกิดการเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่มาพร้อมกับยุงลาย ซึ่งเป็นยุงตัวเล็ก สีดำ มีลายสีขาวที่ขา ท้อง และลำตัว ยุงลายชอบอยู่ตามมุมมืดในซอกหลืบต่างๆ รวมถึงชอบออกหากินตอนกลางวันต่างจากยุงชนิดอื่นที่ออกหากินเวลาค่ำ ทำให้ผู้ที่ชอบออกไปตั้งแคมป์ธรรมชาติอาจพลาดถูกยุงลายกัดได้ในช่วงกลางวันเช่นกัน
อาการของโรคไข้เลือดออก : โรคนี้ถ้าดูเผินๆ แล้วโรคนี้จะคล้ายกับโรคไข้หวัดจนทำให้หลายคนเข้าใจผิด คนที่เป็นโรคไข้เลือดออก มักจะมีไข้สูงเกิน 38.5 จนถึง 40-41 องศาต่อเนื่องกัน 2-7 วัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจจะพบจ้ำเลือด หรือจุดเลือดสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปวดท้องรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
สำหรับคนที่มีอาการไข้เลือดออกรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาหลายวันแล้วอาจเกิดภาวะช็อกเนื่องจากการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (Dengue shock syndrome) และอาจถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับคนที่ไม่เกิดอาการช็อกหลังจากมีไข้สูง 2-7 วัน จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ไข้เริ่มลด ระบบไหลเวียนเลือดก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อทิ้งระยะไปอีกประมาณ 2-3 วันจึงเข้าสู่ระยะหายเป็นปกติ
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคไข้เลือดออก – ระวังตัวเองไม่ให้ถูกยุงลายกัด ในช่วงที่ยุงออกหากินในเวลากลางวัน
-หมั่นทายากันยุงบริเวณผิวหนังนอกเสื้อผ้า
-เมื่อต้องเข้าป่า ไม่ว่าจะเป็นในเวลากลางวันหรือกลางคืน ควรสมเสื้อผ้าที่ปกคลุมร่างกายให้รัดกุมเสมอ
-หลีกเลี่ยงกางเต็นท์ตั้งแคมป์ในจุดที่เป็นแหล่งน้ำขัง และในจุดที่มียุงชุกชุม
-หากมีอาการป่วยที่เข้าข่ายหลังจากไปตั้งแคมป์ควรปรึกษาแพทย์ทันที
4. โรคฮีสโตพลาสโมสิส (Histoplasmosis)
โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) คือโรคปอดชนิดหนึ่งที่มีอาการคล้ายกับโรคปอดบวม เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อราที่ชื่อว่า Histoplasma capsulatum ที่มักพบได้ในพื้นที่อับชื้นตามธรรมชาติอย่างในถ้ำ และในมูลของสัตว์ปีก โดยเฉพาะนกและค้างคาว หากเราเผลอสูดดมสปอร์ของเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไปก็อาจเกิดการติดเชื้อในปอดได้ จึงเป็นอีกหนึ่งโรคที่คนชอบตั้งแคมป์ในธรรมชาติควรระวังตัวเองอยู่เสมอ
อาการของโรคฮิสโตพลาสโมซิส : สำหรับอาการของโรคนี้ อาจมีการพบตั้งแต่ไม่แสดงอาการใดๆ มีอาการเล็กน้อยคล้ายผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจหอบ เจ็บหน้าอก เสียงแหบ อาจมีไอเป็นเลือด นอกจากนี้อาจมีไข้ปวดเมื่อย ไม่มีแรง น้ำหนักตัวลด ไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรง หรืออาจพบการติดเชื้อในอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ไขกระดูก ไปจนถึงการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางได้
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคฮิสโตพลาสโมซิส :
-เลี่ยงการตั้งแคมป์ใกล้กับถ้ำที่อับชื้น หรืออยู่ใกล้กับพื้นที่ ที่มีสัตว์ปีกอย่างค้างคาวอาศัยอยู่
-หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกตามธรรมชาติโดยตรง
-ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่อับชื้นตามธรรมชาติ ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสูดละอองที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ปอด
-หากมีอาการป่วยที่เข้าข่ายหลังจากไปตั้งแคมป์ควรปรึกษาแพทย์ทันที
บทความน่าสนใจอื่น ๆ
แคปชั่นแคมป์ปิ้งหน้าฝน: โดนใจสายแคมป์ แม้ฟ้าจะครึ้ม จากใจ Camp One NR
06 ส.ค. 2024
เรื่องราวของการสร้างอุโมงค์ลม History of DAC Wind lab
06 ก.พ. 2024
CamponeNR แชร์ไอเดียถ่ายรูปเวลาไปแคมป์ปิ้ง
26 ส.ค. 2024
สถาปัตยกรรม โครงสร้าง แบบ Tension Ridge (Artchitecture by JAKE LAH)
08 ต.ค. 2023
Black Design : “กลับบ้าน” งานศิลปะ การแสดงออกประสานของการเปลี่ยนแปลง เวลาและสถานที่ Prof. 莊明中 Chuang, Min Chung เก้าอี้แคมป์ปิ้ง CampOne NR
07 เม.ย. 2023