เรื่องของแก็สกระป๋อง Gas Canisters สำหรับการใช้งาน Outdoor Camping และเดินป่า
02 ก.พ. 2023
1 ในเรื่องเบื้องต้น ที่หลายๆคนควรทำความเข้าใจ สำหรับการใช้ชีวิตภายนอก ท่ามกลางธรรมชาติ สำหรับทุกคนที่ต้องมีการค้างแรม หรือการหุงหาอาหาร การให้พลังงานแสงสว่าง ในป่าแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแก็สเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้กันมากที่สุด ด้วยเพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ได้ง่าย หาได้ง่ายในตลาดทั่วๆไป อีกทั้งยังให้ค่าความร้อนที่สูงมาก ไม่สกปรก อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้แก๊ส ก็ไม่ต้องบำรุงรักษามาก อีกทั้งยังใช้งานง่าย และมีความปลอดภัยในการใช้งานสูง
มีอะไรในกระป๋อง?? (Gas?)
อ้าว.. ก็ แก็ส นะสิ จะมีอะไร 555+ แต่ แก็ส ที่บรรจุกระป๋อง มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ใน การหุงต้ม ให้แสงสว่าง ความอบอุ่นแบบพกพา มีส่วนประกอบหลักๆ ในแต่ละยี่ห้อ แต่ละแบรนด์ แตกต่างกัน เราเรียกโดยทั่วไปทางวงการพลังงาน ว่าเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ปรากฏอยู่ในส่วนผสมของแก็สปิโตรเลียมเหลว โดยปรกติ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- พวกไฮโครคาร์บอนอิ่มตัว (saturated hydrocarbon) ที่เราใช้กันเนี่ยครับ โปรเปน (propane),นอร์มัลบิวเทน (n-butane) และ ไอโซบิวเทน (iso-butane)
2. อีกพวก กลุ่มไฮโครคาร์บอนไม่อิ่มตัว (unsaturated hydrocarbon) — ช่างมันเถอะ คนแคมป์อย่างเราไม่ต้องสนใจครับ
จะเห็นว่า หลักๆ แก๊สในตลาดทั่วโลก ประกอบด้วยแก๊ส 3 ชนิดนี้ เป็นหลัก ไม่เชื่อหยิบมาดูครับ บิวเทน ไอโซบิวเทน และโพรเพน ซึ่งมีลักษณะเป็นแก็สไม่มีสีและไม่มีกลิ่น ภายใต้ความดันสูงจะเป็นของเหลวใส ไอที่เย็นจะเห็นเป็นหมอกหรือควันสีขาว ก่อนนำมาใช้ประโยชน์จะมีการเติมกลิ่น เพื่อให้สามารถสังเกตและป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดการรั่วจากภาชนะบรรจุ
ถึงทุกอย่างจะดูคล้ายกัน แต่การใช้งานแตกต่างกันด้วยข้อจำกัดนิดหน่อยในการใช้งานที่อุณหภูมิต่ำๆ หรืออากาศหนาวจัดแบบติดลบขึ้นไปที่ไม่เจอในเมืองไทย หรือบนภูเขาสูงที่อากาศเบาบาง ที่ไม่พบแน่ๆในเมืองไทยเช่นกันเพราะฉะนั้น ไม่ต้องกังวลว่าคุณภาพแก๊สต้องดีสุดๆ ท๊อปเกรด เพราะมันม่จำเป็นสำหรับการเที่ยวและใช้งานในเมืองไทยเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณต้องไปต่างประเทศ ยุโรปหรือ อเมริกาเหนือ หรือ หิมาลัย หรือยอดเข้าอื่นๆ ความรู้นี้จะช่วยให้คุณเลือกได้อย่างถูกต้องและมั่นใจได้ในใช้งานและการเดินทาง แต่ก็ต้องไปหาซื้อที่นั่นอยู่ดีนะ เพราะกระป๋องแก๊สโหลดขึ้นเครื่องบินไม่ได้
แล้วกระป๋องละมีกี่แบบ(Canisters)
โดยหลักแล้วนอกจากสีสันจาก ฟิลม์หรือสติกเกอร์ของแต่ละแบรนด์ที่หลากสีสัน แล้ว ลักษณะของแก็สกระป๋อง เราให้ความสำคัญในการแยกประเภท ที่ “วาวล์” ครับ ใช่แล้ว วาวล์ คือ คุณลักษณะของอุปกรณ์ที่ใช้ทำหน้าที่ เปิด ปิดช่องทางของเนื้อแก็สจากภายในไปสู่ภายนอก หรือชั้นบรรยากาศที่เราอยู่ๆและใช้งาน
ปัจจุบัน จำแนกได้ หลักๆ 4 ประเภท ตามลักษณะวาวล์และการเชื่อมต่อกับถังแก็ส คือ
1. แบบ (Aerosol)
2. แบบเจาะ (Piece)
3. แบบคลิป (Clip Easy-Clic Non-Threaded)
4. แบบเกลียว (Screw)
แบบที่นิยมใช้กันใน ประเทศไทย บ้านเรา และแถบๆ เอเชีย จะมีอยู่ 2 แบบ ก็คือ แบบแก็สกระป๋องยาว (Aerosol) กับแบบกระป๋องซาลาเปาแบบหัวเกลียว (Screw)
มาเจาะกัน ที่แบบแรก แก็สกระป๋องยาวแบบ (Aerosol)
กระป๋องแบบ Aerosol นั้นจะเรียกชื่อว่าเป็นแบบ MSF-1a หรือ A4 บ้านเรามักจะเรียกว่าเป็นแก็สกระป๋องยาว หัวต่อแก็สจะเรียกว่าเป็นแบบ bayonet-type ที่หัวต่อยื่นออกมา แก็สภายในจะเป็นแก็สบิวเทนทั้งหมด 100% โดยแก็สจะถูกอัดทำให้เป็นของเหลว ปกติจะมีขนาดน้ำหนักแก็ส 227 กรัม กระป๋องแก็สแบบเปล่าๆ จะหนักราว 103 กรัม มักจะใช้กันทั่วไปในการทำอาหารตามบ้าน ตามร้านอาหาร
แก็สกระป๋องยาวสามารถใช้ในที่อากาศเย็นมากได้ แต่มีข้อจำกัด เพราะจุดเดือดของแก็สมันเปลี่ยนแปลงไปตามความกดอากาศด้วย ยิ่งเราไปใช้บนภูเขาสูงๆมากเท่าไหร่ จุดเดือดของแก็สก็จะลดต่ำลงมาด้วย ยิ่งความสูงมากๆ แก็สกระป๋องยาวก็สามารถที่จะใช้งานได้ที่อุณหภูมิต่ำลงเรื่อยๆ และถ้าเราเก็บแก็สในที่อุ่นๆไว้ก่อนเช่นในกระเป๋าหรือห่อด้วยเสื้อแจ็คเก็ตไว้ก่อนใช้ ก็จะช่วยให้ใช้งานได้ที่อุณหภูมิต่ำลงไปอีก
เชื้อเพลิงในกระป๋อง กระป๋องแบบยาว นั้นมักจะบรรจุแก็สบิวเทน ต้องใช้แก๊สกระป๋องใหม่เท่านั้น เพราะแก๊สกระป๋องที่บรรจุใหม่จากโรงงานนั้นจะเป็นแก๊สบิวเทน 100% ต่างกับแก๊สที่ใช้เติมส่วนใหญ่จะเป็น แก็สผสมของโพรเพนและบิวเทน และอัดแรงดัน pressure ที่สูงกว่าแก๊สบิวเทน 100% อย่างมาก เราเลยไม่แนะนำในการเติม refill แก๊สกระป๋องยาวเอง ไม่คุ้มกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
แก็สซาลาเปา(screw thread Canister)
กระป๋องแบบเกลียว (screw thread Canister) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แก็สซาลาเปา” ที่เรียกว่าแบบเกลียว เพราะว่าตรงหัวต่อจะเป็นเกลียวหมุน กระป๋องแบบนี้มักจะบรรจุแก็สผสม มากกว่าที่จะเป็นบิวเทนล้วนเหมือนแก็สกระป๋องยาว (แต่ก็มีหลายเจ้าที่ใช้เป็นบิวเทนล้วนนะครับ) ภายในอัดเป็นของเหลวอยู่ในกระป๋องเหมือนกับแก็สกระป๋องยาว แก็สซาลาเปามักจะใช้กับพวกเดินป่า แค้มปิ้ง
ปกติจะมี 3 ขนาด คือ 110 กรัม , 230 กรัม และ 450 กรัม พวกนี้คือน้ำหนักเฉพาะแก็สนะครับ ยกตัวอย่าง กระป๋องแก็สขนาด 230 กรัม จะเป็นน้ำหนักแก็ส 230 กรัม และเป็นน้ำหนักกระป๋องแบบเปล่าๆ อีก 150 กรัม รวมทั้งกระป๋องก็จะหนัก 380 กรัม
กระป๋องแก็สขนาด 450 กรัม จะเป็นน้ำหนักแก็ส 450กรัม และเป็นน้ำหนักกระป๋องแบบเปล่าๆ อีก 216 กรัม รวมทั้งกระป๋องก็จะหนัก 666 กรัม
เชื้อเพลิงในกระป๋อง แก็สซาลาเปานั้น ที่ขายกันในต่างประเทศมักจะเป็นเชื้อเพลิงผสม เช่น iso-butane กับ propane เป็นหลัก แต่ก็มีแบบที่ใช้เป็นบิวเทนล้วนเหมือนกัน
สาเหตุที่ต้องมีการผสมแก็สประเภทอื่นเข้าด้วยกันนั้นก็เพราะ ถ้าเป็นบิวเทนล้วนๆ อย่างเดียวนั้น เวลาใช้ในสภาพอากาศที่เย็นมากๆ แล้ว บิวเทนที่ถูกอัดเป็นของเหลวในกระป๋องจะกลายสภาพเป็นแก็สไม่ได้ เพราะ บิวเทนจะเดือดที่ -1 ° C ที่ระดับน้ำทะเล ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านั้น ก็จะกลายสภาพแก็สไม่ได้ เมื่อเป็นแก็สไม่ได้ เตาแก็สก็จะไม่มีเชื้อเพลิง หรือก็คือจุดไม่ติดนั่นเอง แล้วถ้าจะใช้ที่สภาพอากาศเย็นจัด หรือต้องไปจุดเตาอยู่บนภูเขาหิมะเย็นๆ ต้องหาแก็สที่มีจุดเดือดต่ำมากๆมาใช้แทนหรือผสมเข้าไปครับครับ เช่น iso-butane มีจุดเดือดอยู่ที่ -11.7 °C หรือ โพรเพนนั้นจะมีจุดเดือดอยู่ที่ — 42° C ที่ระดับน้ำทะเล ถ้าอุณหภูมิข้างนอกไม่ต่ำกว่า -42 ° C ก็ยังกลายสภาพเป็นแก็สได้อยู่ หรือ พูดง่ายๆ อากาศเย็นมากๆ ก็ยังจุดเตาได้อยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เชื้อเพลิงแก็สสำหรับใช้ในการแค้มปิ้งในสภาพอากาศเย็นก็จะเป็นแก็สผสมครับ ลองสังเกตุดูที่กระป๋องแก็สดูก็ได้ จะบอกว่าบรรจุแก็สอะไรข้างใน
และนั่นคือที่มาของการออกแบบถังซาลาเปาที่ต้องบรรจุ แก็สผสมที่จะมีแรงดันมากกว่าทำให้แก็สซาลาเปานั้นจะมีความแข็งแรงของกระป๋องและหัวต่อมากกว่าแก็สกระป๋องยาวด้วย
สาเหตุว่าทำไมแก็สกระป๋องยาว ถึงราคาถูกกว่าแก็สซาลาเปามาก ทำไมราคามันถึงต่างกันเยอะ ?
โดยปรกติ แก็สซาลาเปาขนาด 230 กรัม ราคาตลาดราวๆ 150–250 บาท (แล้วแต่แบรนด์ แล้วแต่ส่วนผสมแก็ส ถ้าบิวเทนล้วนๆก็ถูกลงมา) แต่ถ้าแก็สกระป๋องยาว ราคากระป๋องละ 30–40 บาท มันเป็นแก็สขนาดเท่ากัน ทำไมราคามันต่างกันขนาดนั้น สาเหตุที่ราคาต่างกันนั้นมาจากข้อมูลดังนี้
- แก็สกระป๋องยาวนั้น มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เพราะข้างในอัดความดัน (2 Bar) น้อยกว่าแบบซาลาเปา 2เท่า เพราะแก็สโพรเพนมีจุดเดือดต่ำ ทำให้ทั้งกระป๋องซาลาเปาและวาล์วเชื่อมต่อต้องแข็งแรงกว่าเพื่อทนแรงดันที่มากกว่า (4 Bar)
2) แก็สกระป๋องยาวนั้นใช้กันแพร่หลายมาก ไม่เฉพาะ เดินป่าแต่ทั้งร้านอาหารและหลายกิจกรรม โดยเฉพาะในแถบเอเชีย โดย วาว์ลกับตัวถัง มีโรงงานระดับโลกส่วนใหญ่อยู่ ทั้งที่ ไทย เกาหลี เวียดนาม และจีน ดังนั้นเมื่อมีความต้องการมาก จำนวนการผลิตก็มากตาม ยิ่งผลิตมากต้นทุนการผลิตก็ยิ่งต่ำลง ในขณะที่แก็สซาลาเปานั้นมีปริมาณการผลิตที่น้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่ใช้กับพวกนักเดินป่า ปีนเขา แค้มปิ้งกันเป็นหลัก
3) แก็สกระป๋องยาวตอนนี้นับว่าเป็นของใช้ทั่วไป ช่องทางการจัดจำหน่ายกว้างกว่า หาได้ทั่วไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ต และขายกันทีเป็นแพ็คหลายกระป๋อง จึงได้ราคาถูก
4) ในขณะที่แก็สซาลาเปานั้นเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ยิ่งพวกที่เป็นสินค้าพรีเมี่ยม ราคาจึงสูงกว่า ไม่นับที่บางท่านซื้อเป็นของสะสมอีก ลายหายากราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก
- เรื่องน้ำหนัก ข้างกระป๋องซาลาเปา ที่เราเห็น แก็สขนาด 230 กรัม คือทั้งกระป๋องหนัก 230 กรัม ซึ่งจริงๆไม่ใช่นะครับ นั่นคือน้ำหนักเฉพาะแก็สยังไม่รวมกระป๋อง ถ้ารวมกระป๋องก็จะหนักราว 380 กรัม
เรื่องของ การพิจารณาในการใช้งาน ราคาและสิ่งที่ท่านเชื่อมั่น เป็นเรื่องส่วนบุคคลนะครับ ยังไงไปลองปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ครับ
สุดท้าย ขอแนะนำ วิธีในการกำจัดกระป๋องที่ใช้แล้ว เวลาไปแคมป์ หรือก่อนทิ้งเพื่อความปลอดภัย ขอความกรุณา กระป๋องที่ใช้เสร้จแล้ว ช่วยเจาะกระป๋องก่อนที้งด้วยบางครั้งเราทิ้งในอุทยาน เจ้าหน้าที่ ขึ้นไปเจอขยะเยอะ ก็ช่วยกันเก็บมาเผาทำลาย ก็เจอแก้สกระป๋องใช้ไม่หมดซุกอยู่ก้นถุงขยะ เกิดระเบิดและอันตรายได้
การเจาะ คือการระบายแก็สที่เหลืออยู่ทั้งหมดออก แล้วใช้ไขควงหรือตะปูเจาะผนังทั้งหมด เสร็จแล้วก็ใส่ลงในภาชนะรีไซเคิลได้อย่างปลอดภัย สามารถรีไซเคิลโลหะหรือสิ่งของที่มีโลหะทีไม่ต้องการได้อีกต่อไป
ฟังดูง่าย แต่หลายคนลังเลเสมอที่จะทำมัน เพราะกลัวว่ากระป๋องจะระเบิดเหมือนระเบิดมือเพราะมันยังมีแก็สตกค้างอยู่ อย่ากลัวครับ กลัวการทิ้งโดยไม่เจาะมากกว่านะครับ
มาช่วยกันครับ